Black Mirror: Bandersnatch คุณจะเลือกตอนจบแบบไหน?

Bandersnatch กำกับโดย David Slade เป็นหนึ่งเรื่องราวของซีรีส์ Netflix ฝั่งอังกฤษชื่อ Black Mirror หนังต้องการนำเสนอผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ที่มีความเป็นดาบสองคม ได้ดาราหนุ่ม Fionn Whitehead มารับบทนำ ซึ่งเขาได้เคยฝากฝีไม้ลายมือการแสดงในหนังชื่อดังอย่าง Dunkirk เมื่อปี 2017 มาแล้ว

ตัวเอกของเรื่อง Stefan Butler เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี ที่นำเกมมาเสนอให้บริษัทเกม และเขาได้พยายามสร้างเกมที่ซับซ้อนให้เสร็จทันกำหนดส่งกับบริษัทเกม แต่บางสิ่งบางอย่างก็ไม่เป็นใจเอาซะเลย ทำให้เขาต้องการที่จะเริ่มสร้างใหม่ หากแต่ว่าที่จะเริ่มเขียนใหม่เป็นเกมในชีวิตจริงของเขาชื่อเกม Bandersnatch และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหลากหลายที่นำไปสู่จุดจบหลายรูปแบบ จุดที่น่าสนใจของเรื่องนี้ การเดินเรื่องคล้าย ๆ การเล่นเกม มีการเว้นช่วงให้เลือกการกระทำ จึงทำให้มีทางเลือกการกระทำหลายทาง ทีนี้ในหนังก็จะมีหลายเส้นเรื่อง (เหมือนเรื่องราวในโลกคู่ขนาน ที่ต่างเรื่องต่างดำเนินไปในโลกของตัวเอง) มีแนวคิดที่ว่า “ลองใหม่อีกครั้ง” ที่ตัวเอกกลับไปเขียนเรื่องราวของตัวเองใหม่ เราอาจจะเห็นฉาก ๆ หนึ่งซ้ำ ๆ อยู่หลายรอบ (ก็คือการวนลูปกลับไปเริ่มใหม่) และก่อนที่เส้นเรื่องใหม่จะเริ่มขึ้นก็จะมีการวนลูปของฉากก่อนหน้า มีความยาวประมาณสามวินาทีอยู่ประมาณสี่ถึงห้ารอบ ซึ่งส่วนนี้ทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมเหมือนตัวเองเป็นคนเล่นเกมแบนเดอร์สแนตช์จริง ๆ มันทั้งรู้สึกกดดัน เครียด หงุดหงิด เหมือนตอนเล่นเกมแล้วไม่ผ่านด่านสักที จนบางทีรู้สึกอยากจะเลิกเล่นเอาดื้อ ๆ หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ดูไปได้สักพักจะมีความรู้สึกอยากจะเลิกดูเอาดื้อ ๆ แต่ก็ตัดสินใจดูต่อเพราะยังอยากรู้เรื่องราวต่อว่าจะดำเนินไปแบบไหนและมีจุดจบยังไง และด้วยความที่มีเส้นเรื่องหลากหลาย และประเด็นในแต่ละเรื่องที่หนังหยิบมาเล่าล้วนเกิดกับบุคคลรอบ ๆ ตัวซึ่งมีบทบาทต่อชีวิตบัตเลอร์ค่อนข้างมาก ประกอบกับที่บัตเลอร์เองมีปมในใจมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราเชื่อว่าจุดจบแต่ละแบบที่หนังนำเสนอมามีความเป็นไปได้ และไม่เกินจริงเลย ซึ่งส่วนนี้ต้องชื่นชมทีมเขียนบทว่าทำการบ้านมาดีมาก แต่ใช่ว่าหนังทั้งเรื่องจะมีแต่เรื่องเครียด ๆ เสมอไป หนังยังนำเสนอมุขขำ ๆ มาดึงอารมณ์คนดูอย่างเราไม่ให้เครียดจนเกินไป ยังมีมุขน่ารัก ๆ มีการแซะโฆษณาแอบแฝงไว้อย่างแนบเนียน

                หนังเรื่องนี้ได้หยิบเรื่องราวหลากหลายประเด็นมาเล่าไม่ว่าจะเป็น ประเด็นด้านจิตวิทยา พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ การนำเสนอเรื่องราวของฆาตกรโหด อุตสาหกรรมสื่อวีดีทัศน์ หรือแม้แต่ประเด็นการใช้สารหลอนประสาท ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต่างก็เคยถูกหยิบมาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนต์มาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ Bandersnatch แตกต่างคือรูปแบบการนำเสนอ นั่นคือการจำลองการใช้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้อยู่ในเกม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่ และถึงแม้ว่าหนังจะมีเนื้อหาเยอะ มีเรื่องราวหลายส่วน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีหลายเส้นเรื่องที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน แต่หนังตัดต่อออกมาให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม ประกอบกับการแสดงของหนุ่มไวท์เฮดก็ดีและเอาคนดูอยู่ได้ดีเลยทีเดียว

The Reader ความรักของเด็กหนุ่มที่กลายเป็นความรู้สึกฝังลึก

เมื่อความรักรู้สึกรัก เกิดขึ้นตอนที่กำลังอยากลองรัก…และเมื่อหลงรักไปแล้ว มันก็ยากที่จะถอนตัว เป็นความรักที่หยั่งรากลึกลงไปก้นบึ้งความรู้สึกเลยก็ว่าได้ สำหรับ ไมเคิล เบิร์ก (รับบทโดย David Kross) เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ที่บังเอิญเจอสาวใหญ่วัยกว่า 30 ปี นามว่ากับฮันน่า ชมิทซ์ (ระบทโดย Kate Winslet) และการกลับมาเจออีกครั้ง…ความลึกซึ้งเกินเลยระหว่างสาวใหญ่และเด็กหนุ่มก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

The Reader (2008) กำกับโดย Stephen Daldry หนึ่งในทีมผู้กำกับซีรีส์ที่กำลังโด่งดังอย่าง The Crown ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้กำกับหนังดีน่าจดจำหลายเรื่อง เช่น Billy Elliot (2000) และ The Hours (2002) ตัวหนังมีฉากหลังเป็นประเทศเยอรมนี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มชื่อไมเคิล เบิร์ก กำลังนั่งรถไฟกลับบ้านเขาเริ่มมีอาการป่วยด้วยไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) และเมื่อลงจากรถไฟก็ดันเดินตากฝน ปากสั่น แถมยังอ้วกแตกจนทนไม่ไหว จึงหลบเข้าไปนั่งพักตรงทางเข้าบ้านฮันน่า ชมิทซ์ เมื่อเด็กหนุ่มที่ร่างกายและจิตใจกำลังอ่อนแอได้รับการช่วยเหลืออย่างอ่อนโยนจากฮันน่าสาวสวยใจดี ที่ทั้งเช็ดหน้า และล้างอ้วกให้ แถมยังกอดปลอบใจอย่างอ่อนโยน เขาจึงจดจำฝังใจ เมื่อหายป่วยจึงตั้งใจจะแวะมาขอบคุณ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าพอกลับมาเจอกันความสัมพันธ์ลึกซึ้งแบบลับ ๆ ของพวกเขาเกิดขึ้น ทั้งสองหลงใหลกันและกัน ไมเคิลแอบมาหาฮันน่าหลังเลิกเรียนทุกวัน จนมาวันหนึ่งไมเคิลอ่านหนังสือให้ฮันน่าฟัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฮันน่าตั้งกฎว่าก่อนมีอะไรกัน ไมเคิลต้องอ่านหนังสือให้ฟังก่อน (และคงเป็นจุดบอกที่มาของชื่อหนังว่า The reader อีกด้วย) อยู่มาวันหนึ่งฮันน่าหายตัวไป ทำให้ไมเคิลสับสนและหัวใจสลายกลายเป็นคนเงียบขรึม ความไม่เข้าใจและความเศร้าสร้อยมันเกาะหนึบอยู่ในหัวใจ จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังหวนนึกถึง ผ่านมา 8 ปีไมเคิลกลายเป็นนักเรียนกฎหมายและเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีอาชญากรรมของนาซี ที่นี่เองเขาได้พบฮันน่าอีกครั้ง…ฮันน่าในฐานะจำเลย และไมเคิลเพิ่งรู้ตัวว่าตนเป็นเพียงคนเดียวที่กุมความลับที่อาจทำให้ฮันน่าได้รับการลดโทษครั้งนี้ได้

แต่บอกไว้ก่อนว่าความลับที่ว่านี้ คือปมยิ่งใหญ่ของหนัง และเป็นไคลแมกซ์ระลอกแรกของหนังด้วยเช่นกัน ที่บอกว่าเป็นระลอกแรก ก็เพราะว่าไคลแมกซ์ระลอกที่สองตามมา ซึ่งครั้งที่สองนั้นมันสะเทือนอารมณ์เอามาก ๆ เลยทีเดียว หนังแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก คือช่วงที่พระนางได้ใช้เวลาด้วยกันและสัมพันธ์กันแบบลับ ๆ และช่วงที่สองคือช่วงกลับมาเจอกันอีกครั้งและมีเรื่องราวต่อเนื่องมาอีกหลายปี โดยไมเคิลกลายเป็นทนายความ (Ralph Fiennes รับบทไมเคิลตอนเป็นผู้ใหญ่) ได้กลับมาเป็น the reader ให้ฮันน่าอีกครั้ง เรื่องราวพักหลังเน้นถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร มีฉากที่คนดูก็ได้ประหลาดใจไปพร้อม ๆ กับไมเคิล ได้ยิ้มทั้งน้ำตาด้วยความรู้สึกท่วมท้นที่รับรู้ร่วมกับตัวละคร ดนตรีประกอบดีจนประหลาดใจ ช่วงท้าย ๆ อินมาก น้ำตาซึมจนร่วงเผาะ มาดูอีกทีถึงรู้ว่าดนตรีประกอบมันมีผลจริง ๆ

 หนังเรื่องนี้เป็นหนังโรแมนติกดราม่าที่ทรงพลังมาก จะบอกว่าหนังมีตัวละครหลักแค่สองคนคือ ไมเคิล กับฮันน่าก็คงไม่ผิด และหากจะกล่าวว่าหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวของฮันน่า ชมิทซ์แล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์และความรู้สึกของไมเคิลด้วยเช่นกัน ถ้าถามว่าฮันน่ารักไมเคิลไหม จะตอบว่าฉากก่อนเลิฟซีนและเลิฟซีนก่อนจากกันเมื่อครั้งวัยรุ่นนั้นมันบอกไว้อยู่แล้ว และถ้าถามว่าไมเคิลยังรักฮันน่าอยู่ไหม ก็จะตอบว่าลองดูฉากใกล้จบที่ไมเคิลเตรียมห้องและติดรูปภาพบนผนังสิ..สะเทือนใจสุด ๆ

Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน

กลายเป็นหนังรอมคอมขวัญใจมหาชนไปแล้ว สำหรับ Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน ของผู้กำกับ ชยนพ บุญประกอบ ที่เคยฝากผลงานการกำกับเรื่อง Suckseed ห่วยขั้นเทพ (2554) เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (2558) สำหรับ Friend Zone นี้เป็นหนังแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ ผลิตโดยจอกว้างฟิล์ม และจัดจำหน่ายโดย GDH 559 นำแสดงโดยหนุ่มรูปหล่อมาดอบอุ่นน้องนาย ณภัทร เสียงสมบุญ และสาวสวยมากฝีมืออย่างใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์

                ความ Friend Zone นี้ เริ่มจาก ปาล์ม (นาย ณภัทร) และกิ๊ง (ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก) เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่สมัยมัธยม เหตุการณ์ดราม่าบางอย่าง ทำให้ปาล์มบอกกับกิ๊งประมาณว่าถ้าไม่มีใครรักกิ๊ง ปาล์มจะรักกิ๊งเอง ผู้หญิงอ่อนไหวหัวใจสับสนอย่างกิ๊งเลยถามกลับว่า “รักแบบไหน?” ปาล์มตอบว่า “รักแบบเพื่อน” นั่นแหล่ะ Friend Zone จึงเกิดขึ้นและกินเวลาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน กิ๊งคบและเป็นแฟนกับพี่เท็ด (เจสัน ยัง) ซึ่งทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงที่ต้องเดินทางไปทำเพลงให้ศิลปินสาว ๆ ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ ๆ มากิ๊งสงสัยว่าพี่เท็ดจะนอกใจ จึงจะตามไปดูว่าพี่เท็ดนอกใจไปกับสาวนักร้องหรือไม่ และกิ๊งก็ชวนปาล์มไปเป็นเพื่อน ในการเดินทางทริปแอบตามจับพี่เท็ดนอกใจนี่เอง คนดูจะได้รับชมเรื่องราวสนุก ขำ มุกฮา ๆ ความน่ารักเป็นธรรมชาติของใบเฟิร์น และความดีงามของน้องนาย

                สำหรับคอหนังที่ชื่นชอบสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ คงไม่ผิดหวังแน่นอน เป็นหนังที่ดูแล้วอารมณ์ดี คลายเครียดได้ดีที่เดียว ดูไปจะมีฉากซ้ำประปราย สลับมุกฮา ๆ เรียกเสียงหัวเราะได้ตลอดเรื่อง ดูเพลินดี ที่สำคัญคือพระนางเล่นได้น่ารัก และเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะสองคนนี้คุยกันดูถูกคอ มีการหยอกล้อแบบเพื่อนสนิท บทสนทนาในซีนดราม่าก็ดูธรรมชาติดี ไม่รู้สึกแปลกหรือเติมแต่งเลย เหมือนเพื่อนคุยกัน น้องนาย ณภัทรหล่อ น่ารัก ออร่ามากมากแบบต้องร้องขอชีวิต ส่วนใบเฟิร์นเล่นดี หน้าสวย และชอบฉากอ่างอาบน้ำที่มีความเซ็กซี่นิด ๆ และขาใบเฟิร์นสวยมาก และต้องชมทีมงานที่คงทำการบ้านมาดีเรื่องการตามเทรนด์ ตามกระแสในโลกปัจจุบัน พวกคำพูดที่เป็นภาษาสมัยใหม่ พวกเหตุการณ์หรือเรื่องที่คนประเภทเฟรนด์โซนเจอบ่อยก็เอามาขยี้เป็นมุกฮา ๆ ได้ดี และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมุมกล้องสวย โลเคชั่นดี ภาพสวย รู้สึกว่าทีมงานเก็บงานภาพได้ละเอียดและออกมาดีมากเลยทีเดียว

หนังขยี้หัวใจประชากรชาว Friend Zone ด้วยประโยคธรรมดา ๆ ที่ได้ยินบ่อยแต่ฟังแล้วเจ็บจี๊ด “เป็นเพื่อนกัน มันก็ดีอยู่แล้ว” ซึ่งหนังเรื่องนี้คงได้ใจกลุ่มคนที่กำลังตกอยู่ในเฟรนด์โซนไปเยอะเอาการ และจะเห็นว่าหนังใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับสนามบินและเครื่องบินเยอะ ด้วยชื่อหนัง “ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน” ก็ล้อมาจากเสียงเตือนระวังสิ้นสุดทางเลื่อนในสนามบิน พระเอกก็เป็นสจ๊วต การเดินทางของนางเอกกับพระเอกก็มีฉากบนเครื่องบินตลอด และที่สำคัญ…ฉากที่เป็นต้นกำเนิด Friend Zone ของสองคนนี้ก็เกิดบนเครื่องบิน

สวนกระแสความวุ่นวายในฝรั่งเศส ด้วยการย้อนไปดูหนังรักโรแมนติกในดวงใจ Midnight in Paris

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Midnight in Paris โดยผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน เรื่องนี้อบอวลไปด้วยความโรแมนติก แถมยังขับกล่อมให้คนดูหลงใหลในมนต์เสน่ห์และตกหลุมรักเมืองปารีสเข้าอย่างจัง พาเราให้หลุดเข้าไปในโลกจินตนาการและได้ปลดปล่อยความเพ้อฝันในช่วงเวลาเพียง 94 นาที

Midnight in Paris (2011) เป็นภาพยนตร์แนว Fantasy, Comedy, Romance เล่าเรื่องของกิล (รับบทโดย Owen Wilson) ได้เดินทางมาปารีส มหานครที่เขาหลงรัก เพื่อมาหาแรงบรรดาลใจในการทำงานเขียนของเขา และถือเป็นการพาคู่หมั้นของเขาคือ อิเนซ (รับบทโดย Rachel McAdams) และพ่อแม่ของอิเนซมาเที่ยวไปด้วยในตัว ซึ่งการมาฝรั่งเศสครั้งนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาและอิเนซช่างแตกต่างกันทั้งแนวทางการใช้ชวิต ความคิด และทัศนคติ ในขณะที่อิเนซเพลิดเพลินกับการเที่ยวสถานที่หรูหราและโด่งดังในฝรั่งเศส กิลได้พบว่าช่วงเวลาเที่ยงคืนเขาหลงเข้าไปในอดีตยุค 1920 เขาได้พบกับนักดนตรีชื่อดังอย่าง โคล พอทเตอร์ นักเขียนชื่อดัง F. Scott Fitzgerald ซึ่งพาเขาให้ไปเจอนักเขียนในดวงใจอย่าง Ernest Hemingway และเขายังได้เจอศิลปินในยุคนั้นอีกมากมาย กิลได้รู้จักกับอะเดรียน่า (รับบทโดย Marion Cotillard) สาวสวยที่หลงใหลในศิลปะ กิลรู้สึกเหมือนได้คุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกันและได้ตกหลุมรักสาวสวยคนนี้ ซึ่งเวลาเที่ยงคืนของทุกคืนเขาจะหลุดเข้าไปในอดีตดังกล่าว เมื่อเขาได้มาอยู่ในยุคที่ตัวเองหลงใหลและปลาบปลื้ม เป็นยุคที่งานเขียนเฟื่องฟู เต็มไปด้วยนักเขียนในตำนาน แถมมีสาวสวยที่เขาตกหลุมรัก จึงทำให้กิลอยากจะติดอยู่ในยุค 1920s ตลอดไป จุดที่ทำให้กิลเปลี่ยนความคิด คือ เมื่อคืนหนึ่งเขาและอะเดรียน่า ได้หลุดไปในยุค 1890s และอะเดรียน่าก็หลงใหลได้ปลื้มกับความเฟื่องฟูยุคนี้มาก เธอรู้สึกเหมือนกิล คืออยากจะอยู่ในอดีตตลอดไป แต่เป็นยุค 1890s คนละเวลากับยุคสมัยที่กิลปลาบปลื้ม ทำให้กิลเริ่มตระหนักว่าความหลงใหลในอดีตมันคงเป็นวัฎจักรกันแบบนี้ เราอยู่ในยุคไหนคงหนีไม่พ้นที่จะนึกถึงและโหยหาช่วงเวลาที่ผ่านพ้นมา (ฟังแล้วคุ้น ๆ เหมือนเคยได้ยินกระแสชาว Gen X ในประเทศไทยโหยหาช่วงเวลายุค 90s ซึ่งมีการแชร์และแบ่งปันความประทับใจของยุคนั้นทั้งวิถีชีวิตของวัยรุ่น ขนมและของกินยอดฮิต รสนิยมทางดนตรี และศิลปินคนโปรด)

Midnight in Paris กล่อมคนดูให้มีความฟุ้งฝัน ในขณะเดียวก็ฉายภาพสวยคลาสสิกและโรแมนติกในซอกมุมต่าง ๆ ของนครปารีส ดึงดูดให้อยากไปชมด้วยตาตัวเองซักครั้ง แถมใช้คำพูดของตัวละครโน้มน้าวให้คนดูคล้อยตาม เช่น ตอนที่กิลบอกว่าการเดินกลางฝนพรำในเมืองปารีสเป็นอะไรที่โรแมนติกที่สุด เอาน่า…ดูหนังแล้วคงได้เดินทางไกลไปตามรอย Midnight in Paris ซักครั้งในชีวิต

Almost Famous ย้อนวันวานกลับไปยุค 70s

หนังแนว Coming of Age อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาด ถ้าใครชอบฟังเพลง ROCK & ROLL ดนตรียุค 70s และชอบบรรยากาศแนวผจญภัยไปกับการเดินทาง แนะนำให้ตามดูและเก็บหนังเก่าจากปี 2000 เรื่องนี้ได้เลย

Almost Famous เล่าถึงวิลเลี่ยม มิลเลอร์ (รับบทโดย Patrick Fugit) เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ได้รับแผ่นเสียงวง Rock’n Roll จำนวนมากที่เป็นสมบัติจากพี่สาว เขาจึงเริ่มสนใจดนตรีและมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียนบทความที่เกี่ยวกับเพลงร็อค เมื่อได้พบกับเลสเตอร์ แบงส์ (รับบทโดย Philip Seymour Hoffman) บรรณาธิการนิตยสารดนตรี CREAM Magazine เขาให้โอกาสวิลเลี่ยมไปลองสัมภาษณ์วงร็อค Black Sabbath ซึ่งจากการไปสัมภาษณ์วงร็อคทำให้วิลเลี่ยมได้พบกับเพนนี เลน (รับบทโดย Kate Hudson) สาวสวยผู้ติดตาม Stillwater วิลเลี่ยมประทับใจเพนนี่ เลน และดูเหมือนจะตกหลุมรักสาวอายุมากกว่าคนนี้อีกด้วย วิลเลี่ยมจับพลัดจับผลูมาเดินทางตามไปทัวร์คอนเสิร์ตกับวง Stillwater วงร็อคน้องใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้ติดต่อกับ Ben Fong-Torres บรรณาธิการนิตยสาร Rolling Stone และขอให้เขาได้เขียนบทความของวง Stillwater ประกอบกับทางนิตยสาร Rolling Stone กำลังต้องการบทความของวงนี้และคิดว่าวิลเลี่ยมน่ามีอายุมากกว่านี้ จึงให้วิลเลียมรับงานนี้โดยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้อีกด้วย การเดินทางยาวนานครั้งนี้ทำให้วิลเลี่ยมได้ใกล้ชิดกับเพนนี เลน เขาได้เรียนรู้จากวิธีคิดของเธอ เขาได้พูดคุยและสนิทกับรัสเซล (รับบทโดย Billy Crudup) มือกีตาร์และเป็นหัวหน้าวง นอกจากนี้ยังได้พบเจอกับวิถีของวงร็อค ได้ประสบการณ์ใหม่ และนำไปสู่การค้นพบหนทางของตัวเอง

Kate Hudson แสดงเป็นเพนนี่ เลน ได้โดดเด่น สวย สดใส และมีเสน่ห์สุด ๆ ส่งให้เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ในส่วนของ Billy Crudup ที่แสดงเป็นรัสเซล นักร้องสุดเซอร์ พี่แกก็เท่ห์เอามาก ๆ ดูแปลกตาไม่น้อยเพราะพักหลังมานี่ชอบรับบทหนุ่มใหญ่สะอาดสะอ้าน ดูดี มีฐานะ เช่น  Will Bloom ในเรื่อง Big Fish, บทสามีหล่อเนี้ยบ Michael Holloway ในเรื่อง Gypsy และ Oram ในเรื่อง Alien Covenant ซึ่งในเรื่องนี้พี่แกเป็นคนเดียวในวงที่แสดงให้เห็นว่ามีจิตวิญญาณของความเป็น ROCK & ROLL เป็นคนที่มี passion ในการทำเพลงทำดนตรีเอามาก ๆ

ความประทับใจที่มีต่อ Almost Famous

ตลอดเรื่องของหนัง จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนได้การเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตไปกับวิลเลี่ยมและ Stillwater พบเจอเรื่องน่าตื่นเต้นและอันตราย ได้เห็นโลกในมุมมองใหม่ ๆ อาจทำให้เราตกหลุมรักรัสเซลเหมือนกับเหล่าแฟนเพลงในหนัง และอาจทำให้เราหวนกลับไปหาเพลงเก่า ๆในสมัยนั้นมาฟัง เพราะบทเพลงของศิลปินยุค 70s ที่เลือกมาประกอบในแต่ละช่วงของหนังมันเพราะ เหมาะเจาะ กับอารมณ์หนังเป็นอย่างดี เช่น Led Zeppelin, David Bowie, The Who, Simon & Garfunkel, Lynyrd Skynyrd และอื่น ๆ อีกมากมาย

นึกถึงหนัง Sing Street (2016) แม้จะเป็นหนังแนวดนตรีและใช้เด็กวัยรุ่นเป็นตัวเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่ Almost Famous ไม่ได้ให้น้ำหนักกับความเป็นหนัง Coming of Age มากเท่ากับ Sing Street และเรื่องนี้มีความดราม่าน้อยกว่า กลิ่นอายดนตรี Rock’n Roll ที่ให้ความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่กว่า แต่ในแง่ความประทับใจ บอกเลยว่าสองเรื่องนี้กินกันไม่ลง

Sing Street หนัง Coming of Age ที่สอนให้เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับความเศร้าทั้งปวงในชีวิต

Sing Street (2016) หนังของเด็กวัยรุ่นที่กำลังค้นหาทางของตัวเองและกำลังก้าวผ่านชีวิตอันสับสน วุ่นวาย และเจ็บปวด ผลงานของ ผู้กำกับ John Carney เจ้าของผลงานกำกับที่ยังคงประทับใจแฟนหนังอย่าง Once (2007) และ Begin Again (2013)

เพราะเป็นวัยรุ่น จึงเจ็บปวด รึไงกัน!

Sing Street เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในช่วงปี 1980s เล่าถึงชีวิตของคอเนอร์ (รับบทโดย Ferdia Walsh-Peelo) เด็กชายอายุ 15 ที่กำลังเติบโตในครอบครัวที่เริ่มมีปัญหาอันเนื่องมากจากเศรษฐกิจตกต่ำ พ่อตกงาน แม่ถูกลดจำนวนวันทำงาน เมื่อรายได้น้อยลงพ่อแม่จึงให้เขาย้ายจากโรงเรียนเอกชน ไปเรียนที่ Synge Street โรงเรียนของรัฐที่เคร่งเรื่องกฎระเบียบ และชีวิตวัยรุ่นแสนเจ็บปวดของคอเนอร์ ก็เริ่มขึ้น เมื่อพ่อแม่เริ่มทะเลาะกัน และมีแนวโน้มจะหย่าไม่ช้าก็เร็ว ที่โรงเรียนมีเด็กเกเรคอยรังแก ครูใหญ่ที่เคร่งกฎระเบียบพยายามจะล่วงละเมิดและทำร้ายเขา แถมยังผิดใจกับพี่ชายของตัวเองอีก จุดเปลี่ยนของเรื่องคือ คอเนอร์ ได้พบราฟิน่า (รับบทโดย Lucy Boynton) สาววัยรุ่นหน้าตาสวยคม อายุมากกว่า 1 ปี คอเนอร์ชอบเธอทันทีและตัดสินใจเข้าไปขอเบอร์ โดยบอกว่าอยากชวนเธอไปถ่าย MV ทึกทักไปเรื่อยว่าเขามีวงดนตรี เมื่อได้เบอร์สาวมาแล้ว ก็ถึงเวลาฟอร์มวงดนตรี

คอเนอร์หาเพื่อนมาฟอร์มวงดนตรี และตั้งชื่อวงล้อมาจากชื่อโรงเรียนว่า “Sing Street” จากเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่    องดนตรี เขาเริ่มเรียนรู้แนวดนตรีจากพี่ชายของเขา แต่งเพลงเอง ใส่ทำนองกันเอง ถ่าย MV กันเอง จากเรื่องที่จะทำเล่น ๆ เพื่อเอามาจีบสาว กลายเป็นความชอบ ความฝัน และอนาคตของเขา

ความเศร้าน่ะ ใคร ๆ ก็มีทั้งนั้น มีความสุขกับมันสิ แล้วก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

จากเรื่องราวเราจะได้เห็นว่าคอเนอร์เป็นคนจิตใจดีและมีทัศนคติที่ดี แม้เขาจะเจอเรื่องทำร้ายหัวใจหลายเรื่องในคราวเดียว แต่เขารับมือได้ เขาไม่เคยเอาเรื่องถูกรังแกที่โรงเรียนมาบอกพ่อแม่ ในขณะเดียวกันเรื่องพ่อแม่หย่ากันซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนใจของเขาที่สุด เขาก็ไม่สามารถไประบายกับใครได้ เขาเลยระบายความอัดอั้นทั้งหมดทั้งมวลลงไปในเพลง ทั้งความรักและความฝันคือพลังที่ทำให้เขาสามารถก้าวผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดหวัง และมีความสุขปนเศร้าให้ได้

หนังเรื่องนี้นอกจากจะ Feel Good และมีความสุขปนเศร้า น้ำตาคลอแล้ว เรายังจะได้กลับไปฟังเพลงสไตล์ป๊อบร็อคและย้อนบรรยากาศในยุค 80 อีกด้วย เพลงของวง Sing Street มีแต่เพราะ ๆ ดี ๆ ทั้งนั้น แถมเด็ก ๆ ในวงหน้าหล่อหน้าใสมาก นอกจากคอเนอร์นักร้องนำแล้ว อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจคือเอมอน (รับบทโดย Mark McKenna) มือกีตาร์ น้องมีความเนิร์ด ความเก่ง และมีคาแรคเตอร์ที่โดดมาก คนดูรุ่นป้า ๆ รับรองมีใจละลาย ส่วนนางเอก น้องราฟินานั้น ก็มีเสน่ห์มาก

Gone Girl เธอจากไป แล้วเธอก็กลับมา

“คุณมันประสาท คุณบ้าแล้ว บอกหน่อย ทำไมคุณถึงอยากจะทำแบบนี้ ใช่! ผมรักคุณก็จริง แต่เราอยู่แบบทำลายความรู้สึกกัน พยายามที่จะควบคุมกัน เราต่างสร้างความเจ็บปวดให้กันและกัน” นี่คือคำพูดที่พระเอก Gone Girl พูดกับนางเอก ซึ่งก็คือเมียตัวเอง ซึ่งสิ่งที่นางเอกตอบกลับมาคือ “มันคือการแต่งงาน” เสียงราบเรียบตอกย้ำว่ายอมรับเถอะเพราะนี่คือชีวิตคู่ไงจ๊ะเบเบ๊

จากประโยคตัวอย่างของตัวละคร คงพอเดาออกว่า Gone Girl เป็นหนังเกี่ยวกับรักร้าวเตียงหัก จำได้ว่าดูครั้งแรกตอนวันฝนตก อากาศขมุกขมัว ดูจบแล้วถึงกับนอนแน่นิ่ง คิดตาม และเกิดกลัวการมีชีวิตคู่ขึ้นมาเลยทีเดียว ความจริง Gone Girl ไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่หนังรักดราม่า เพราะโทนของเรื่องมันเน้นไปทาง Crime, Drama, Mystery, Thriller โดยเล่าเรื่องผ่านชีวิตคู่ของพระเอกกับนางเอก และด้วยความลึกลับของหนัง บวกกับความซับซ้อนของตัวละคร จึงอาจเป็นหนังที่ค่อนข้างดูยาก คนที่จะชอบก็จะชอบเลย ส่วนคนที่ดูแล้วไม่ชอบ ก็ถือว่ามีอะไรให้เก็บไปขบคิดได้

Gone Girl (2014) เริ่มเรื่องจาก Nick (รับบทโดย Ben Affleck) แจ้งตำรวจว่าภรรยา Amy (รับบทโดย Rosamund Pike) หายตัวไป เมื่อตำรวจเข้ามาสืบสวน พร้อมกับสื่อต่างให้ความสนใจ บวกกับความกดดันและจนทำให้วางตัวไม่ถูกต่อหน้าสื่อมวลชน (มีภาพเขายืนข้างรูปถ่ายภรรยา แล้วยิ้มแหย ๆ) ทำให้คนเอะใจและตั้งคำว่า นิคฆ่าเมียตัวเองหรือไม่? หากเล่าถึงเบื้องหลังการหายตัวไปจะเป็นการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญทันที ใครชอบแนวซับซ้อน ซ่อนเงื่อน แนะนำให้ไปตามดูกันเลย

แนะนำทั้งทีก็ต้องอวยกันหน่อย

บรรยากาศของหนัง มีความขมุกขมัว ทำให้รู้สึกถึงความคลุมเคลืออยู่ตลอดเวลา และการเล่าเรื่องแบบตัดภาพ สลับฉากสลับเวลา ทำให้คนดูได้คิดตามและอยากรู้อยากเห็น อีกทั้ง Amy เป็นตัวละครที่มีมิติ มีความซับซ้อน (แถมยังสวยมาก) พ่อแม่ และครอบครัวของ Amy เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เธอมีความกดกันตัวเอง นำไปสู่คาดหวังชีวิตคู่ที่ดีพร้อม และความต้องการเป็นควบคุมทุกอย่าง ที่กล่าวมาเหล่านี้เอง จึงทำให้หนังดูลึกลับ และน่าติดตามมากยิ่งขึ้น เทคนิคการเล่าเรื่องที่ดีตามมาตรฐานผู้กำกับ มีการเล่าเรื่องแบบค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แล้วดำเนินไปสู่จุดหักมุม และลากเรื่องต่อมาตอนท้ายเพื่อขยี้ความรู้สึกตัวละครและสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้กับคนดู เตือนไว้ก่อนเลยว่าดูจบแล้วอาจจะรู้สึกหดหู่เบา ๆ

เรื่องนี้กำกับโดย David Fincher ผู้กำกับคนเก่งที่ถนัดทำหนังหักมุม เช่น Se7en (1995), Fight Club (1999), Panic Room (2002), Zodiac (2007) คราวนี้เขาหยิบเอานิยายขายดีที่เขียนโดย Gillian Flynn มาดัดแปลงเป็นหนังซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางออสการ์และลูกโลกทองคำ แฟนหนังของ David Fincher ดูแล้วไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

The Hateful Eight 8 พิโรธ โกรธแล้วฆ่า

ถ้าวันไหนรู้สึกเครียด เบื่อเจ้านาย เหนื่อยหน่ายลูกน้อง หรือแค่รู้สึกเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ แล้วอยากหาอะไรทำแก้เครียด แนะนำให้ดู 8 พิโรธ โกรธแล้วฆ่า!! ดูจากชื่อเรื่องก็ชักจะทำให้หายเครียดได้หน่อยแล้วสิ และถ้าบอกต่ออีกว่าเรื่องนี้กำกับโดย Quentin Tarantino เจ้าของผลงานเด่น ๆ เช่น Pulp Fiction, Kill Bill, Inglourious Basterds, Django Unchained พอนึกภาพภาพความโหดแบบกระจุยกระจาย เลือดสาด มุกตลกที่ทำให้หัวเราะหึในลำคอ ทำให้อยากดูมากขึ้นใช่ไหม แต่ช้าก่อน!! หนังเรื่องนี้มีความยาว 3 ชั่วโมง ถ้าตกลงปลงใจจะดูจริง ๆ ล่ะก็ ให้หาที่นั่งหรือที่นอนเหมาะ ๆ จัดตัวเองให้อยู่ในท่าสบาย ๆ แล้วมาเริ่มตะลุยหน้าหนาวในไวโอมิ่งกัน

The Hateful Eight 8 (2015) เปิดเรื่องด้วยการเดินทางของรถม้าข้ามผ่านภูเขาหิมะขาวโพลนในรัฐไวโอมิ่ง ประเทศสหรัฐอมริกา ผู้โดยสารในรถม้า คือ John Ruth นักล่าค่าหัวฉายา Hangman เดินทางมาพร้อม Daisy Domergue โจรสาวที่มีค่าหัวถึง 10,000 ดอลล่า ซึ่ง Ruth จับ Domergue มาเพื่อจะพาไปขึ้นค่าหัวที่เมือง Red Rock โดยระหว่างทางเขาได้รับ Marquis Warren นักล่าค่าหัวผิวสีผู้โด่งดัง ที่อดีตเคยเป็นทหารชั้นนายพลในกองทัพสหรัฐ จากนั้นพวกเขายังรับ Chris Mannix ผู้อ้างตนว่ากำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งนายอำเภอคนใหม่ที่เมือง Red Rock แต่เนื่องจากพายุหิมะรุนแรง ผู้ร่วมทางทั้ง 4 จึงแวะพักที่ร้านมินนี่ ซึ่งเป็นจุดแวะพักชั่วคราวบนทางผ่านภูเขา เมื่อเข้าไปในร้าน พวกเขาได้พบกับคนอีก 4 คน ได้แก่ 1) Bob ผู้ชายเม็กซิกันที่บอกว่าเขาเป็นคนดูร้านแทนมินนี่ในระหว่างที่เธอเดินทางไปเยี่ยมแม่ 2) Oswaldo Mobray ผู้ชายตัวเล็ก 3) Joe Gage คนฆ่าวัว 4) Sanford Smithers อดีตนายพล และเมื่อคนแปลกหน้าทั้ง 8 มาอยู่รวมกัน ในร้านเล็ก ๆ ท่ามกลางภูเขาและพายุหิมะ แถมยังมีทรัพย์สินล่อใจอย่าง Domergue ค่าหัว 10,000 เหรียญ จึงเริ่มมีความไม่ไว้วางใจกันเกิดขึ้น เป็นที่มาของการตั้งกฎ เกิดการยั่วยุกันให้ทำผิดกฎ และเมื่อมีคนละเมิดกฎ ความหายนะก็เกิดขึ้น

จุดที่หลายคนน่าจะขัดใจ คือ หนังยาวมาก เนื้อเรื่องช่วงแรกเนือย ๆ บทพูดแต่ละคนยาวเฟื้อย ชวนให้หลับ แต่เชื่อเถอะ ถ้าคุณผ่านช่วงแรกไปได้ รับรองว่ามีทีเด็ดรออยู่

จุดที่หลายคนน่าจะชอบ คือ ตัวละครที่มีคาแรคเตอร์แปลกและบ้ากันทุกคน และนักแสดงทุกคนก็แสดงดีแย่งซีนกันไม่ใครยอมใคร คาแรกเตอร์หลุดโลกแบบนี้แหล่ะ เหมาะจะเป็นแรงบรรดาลใจให้พวกเราชาวขี้เบื่อขี้เซ็ง สิ่งที่ต้องชมอีกอย่างคือดนตรีประกอบ ช่างมาได้จังหวะและปลุกเร้าความสะใจได้จริง ๆ นะ

เป็นหนังสไตล์ Quentin ที่ไม่ได้โหดเลือดสาดกระจุยกระจายเท่าไหร่นัก ประเด็นล้อเลียนเสียดสีก็มีบ้าง เช่น การเหยียดสีผิว การอยู่ร่วมกันภายใต้กฎกติกา การเอาตัวรอด และสะท้อนความจริงที่ว่าไม่มีคนดีร้อยเปอร์เซนต์ หากใครดูแล้วติดใจและชอบสไตล์นี้แนะนำ search ลิสต์รายชื่อหนังของ Quentin Tarantino ได้เลย

Black Panther หนังเรื่องแรกในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ที่ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ในเวทีลูกโลกทองคำ

เห็นรายชื่อหนังเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำปี 2019 มี Black Panther ติดโผเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า เลยอยากให้มาย้อนดูกันซักหน่อยว่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้มีอะไรดี ถึงได้เป็นหนังในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล เรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่

เปิดเผยเนื้อหาแบบหมดเปลือก

หลังจากเจ้าชาย T’Challa ไปร่วมใน Civil War (จาก Captain America Civil War : 2016) เขาได้กลับมา Wakanda และได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ต่อจากบิดาซึ่งได้สวรรคตจากเหตุก่อการร้าย ต้องบอกไว้ก่อนว่า Wakanda เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา คนทั่วโลกรู้จักในนามประเทศโลกที่สามที่มีรายได้เข้าประเทศมาจากการเลี้ยงแกะ ส่งออกสิ่งทอและพวกชุดเสื้อผ้าเท่ห์ ๆ แต่ Wakanda ได้ซ่อนตัวจริงไว้ไม่ให้โลกได้รู้ ความจริงแล้ว Wakanda เป็นประเทศร่ำรวยจากแร่ไวเบรเนียม และมีเทคโนโลยีสุดล้ำ ซึ่งใช้แร่ชนิดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นแหล่งพลังงาน แร่ไวเบรเนียมยังมีคุณสมบัติพิเศษเลยถูกนำมาทำเป็นชุดเกราะและอาวุธของชาว Wakanda

ปกครองประเทศได้ไม่นาน ทีชัลลา (ฝ่าบาท) โอโคเย (นายพลหญิงคนเก่ง) และนาเคีย (สายลับสาว หวานใจฝ่าบาท) ได้เดินทางไปเกาหลีเพื่อตามล่าโจรที่ขโมยแร่ไวเบรเนี่ยม ทำให้ฝ่าบาทได้เจอกับ Killmonger ลูกชายของท่านอา ที่ถูกพระบิดาของฝ่าบาทฆ่าตายเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งต่อมา Killmonger มาท้าชิงบัลลังก์ และนำไปสู่การต่อสู้ครั้งใหญ่ในประเทศ

Black Panther สู่การเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีลูกโลกทองคำ

แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนดูว่า Black Panther มีจุดอ่อนคือฉากแอคชั่นที่ไม่สนุก ไม่ดุเดือดเหมือนหนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องอื่น ๆ แต่กลับได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์ ซึ่งนอกจากความสนุกตามแบบฉบับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ และฉากที่โชว์ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีแล้ว Black Panther มีความแปลกใหม่ตรงที่เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่เป็นคนผิวสีทั้งเรื่องและอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา หนังยังแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความล้ำสมัยไฮเทคโนโลยีมากแค่ไหน แต่ประชาชนในประเทศยังยึดถือวิถีประเพณีดั้งเดิม นอกจากนี้หนังยังสะท้อนประเด็นการเมืองการปกครอง การยอมรับในกฎกติกา การยอมรับในตัวผู้นำ การแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกัน ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลก และยังส่งเสริมให้มีการแบ่งปันและช่วยเหลือระหว่างประเทศ คาดว่าประเด็นเหล่านี้เองที่มีส่วนเสริมหนุนให้ Black Panther เป็น 1 ใน 5 ของหนังที่เข้าชิงรางลูกโลกทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า ประจำปี 2019

ฉากสนุก ๆ ที่อยากแนะนำ

                นอกจากการต่อสู้ในตอนท้ายที่การต่อสู้ครั้งใหญ่ในประเทศและเป็นไคลแมกซ์ของเรื่องแล้ว ฉากในคาสิโนและการไล่ล่าที่เกาหลีนั้นสนุกและน่าจดจำไม่น้อย ในฉากนี้เองที่คนดูจะโอ้โหกับความดูดีมีชาติตระกูลของฝ่าบาท และได้เสพดนตรีประกอบและบรรยากาศแบบเอเชีย ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือเพลง All The Stars ที่ดังขึ้นตอนหนังจบพอดีและมันเข้ากันอย่างบอกไม่ถูก

Black Panther ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง All the Stars) และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ใครยังไม่ได้ดูแนะนำให้ไปหามาดู แล้วมาลุ้นกันว่าไอ้เสือดำของเราจะได้มากี่รางวัล

No Country for Old Men หมดยุคนายอำเภอขี่ม้าล่าโจร

No Country for Old Men (2007) กำกับโดยพี่น้อง Coen Brothers (Joel Coen และ Ethan Coen) เป็นหนังที่มีกลิ่นอายคาวบอยหน่อย ๆ แอคชั่นประปราย ระทึกขวัญเป็นครั้งคราว แต่ทั้งเรื่องมันคือความตลกร้ายดี ๆ นี่เอง

 

หนังแอคชั่นฟิลลิ่งแปลก ๆ ตอกย้ำความจริงที่ว่า…ไม่มีที่ยืนสำหรับคนแก่อีกแล้ว

เรื่องราวเริ่มต้นจากแก๊งค์ค้ายาเสพติดตกลงซื้อขายกันกลางทะเลทรายในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เกิดตกลงกันไม่ได้เลยเปิดศึกยิงกันกระจาย หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ลิวเวอลีน มอสส์ (รับบทโดย Josh Brolin) ล่าสัตว์อยู่แถวนั้น มาเจอศพเกลื่อนไปหมด เจอทั้งยา และเงินดอลลาร์เต็มกระเป๋า ในหนึ่งก็คิดว่าถ้าเอาเงินนี้มาเป็นของตัวเองต้องเดือดร้อนแน่ ๆ แต่ด้วยความโลภเขาตัดสินใจนำเงินกลับไปด้วย ลิวเวอลีน มอสส์ ถูกตามล่าโดยแอนทอน ชีเกอรห์ (รับบทโดย Javier Bardem) นักฆ่าผู้มีความโรคจิตนิด ๆ ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาตามหาเงินคืน และนายอำเภอวัยใกล้เกษียณ Ed Tom Bell (รับบทโดย Tommy Lee Jones) ก็ได้ดูแลการสืบสวนคดีนี้อย่างใกล้ชิด โดยเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องราวการหนีของลิวเวอลีน โดยมีชีเกอรห์ตามหลังมา 1 ก้าว และมีนายอำเภอตามหลังมาอีก 2 ก้าว

หนังเปิดเรื่องมาด้วยการฉายภาพภูมิประเทศหม่นมัวและแห้งแล้งของรัฐเท็กซัส และเสียงบรรยายเหนื่อยเศร้าของนายอำเภอ เล่าชีวิตการเป็นนายอำเภอมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และความซับซ้อนเข้าใจยากของคดีฆาตกรรมในโลกทุกวันนี้ ตลอดเรื่องคนดูอาจจะลุ้นอยู่กับการไล่ล่าของชีเกอรห์ และลิวเวอลีน จนลืมไปว่านายอำเภอคือตัวละครเอก เป็นคนเล่าเรื่อง และเป็นเจ้าของเรื่องด้วยนะ ซึ่งมีหลายฉากเลยที่ตอกย้ำว่านายอำเภอพยายามจะตามคนร้ายให้ทัน แต่ก็ช้าไป 1 ก้าวทุกครั้ง ไม่เพียงแต่ตามไม่ทัน หนังยังเน้นให้เห็นว่านายอำเภอมีความเหนื่อยล้า อิดโรย และถอดใจไปแล้ว แต่เพราะหน้าที่และอุดมการณ์ที่มีอยู่ ก็หวังจะปิดคดีให้ได้ เพื่อความภาคภูมิใจครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณ

อะไรที่ว่าแปลก

– ความย้อนแย้งและบุคลิกแปลก ๆ ของตัวละคร ต้องยกให้ชีเกอรห์ ฆาตกรโหดเหี้ยม มีความจิตไม่ปกติ ฆ่าคนไม่เลือกหน้า เขาตั้งกฎเอาไว้ว่าถ้าใครได้พูดคุยและได้เห็นหน้าเขาแล้ว คนนั้นต้องถูกเขาฆ่าตาย บางครั้งเขาจะให้โอกาสเล่นเกมโยนเหรียญให้ทายว่าหัวหรือก้อย และด้วยลักษณะการพูดไม่ค่อยเหมือนคนทั่วไป เวลาชีเกอรห์พูดคุยกับใครก็ตามจะให้ความรู้สึกน่ากลัวและตลกในเวลาเดียวกัน

–  เราจะได้เห็นฉากธรรมดา ๆ แต่ให้ความรู้สึกว่ามันทั้งคูล ทั้งเท่ห์ เต็มไปหมด เช่น ฉากที่ Josh Brolin ชักปืนมายิงสุนัขล่าเนื้อ แม้จะดูทุลักทุเล แต่ให้ตายเถอะ…มันเจ๋งเป็นบ้าเลย

– หนังให้น้ำหนักกับการไล่ล่า โดยมีการวางเส้นเรื่องที่ค่อย ๆ ปูมาจากความราบเรียบ ไปสู่ความตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วหักจบแบบคนดูไม่ทันตั้งตัว นี่คงเป็นจุดที่ทำให้คนดูคาใจ มีการพูดถึง และเอาไปคิดต่อ