10 Things I Hate About You หนังที่สอนให้นับหนึ่งถึงรัก

ถ้าคุณกำลังมองหาหนังรอมคอมเบาสมองหนักหัวใจที่ว่าด้วยชีวิตไฮสคูลสักเรื่อง หนังชื่อดังอมตะอย่าง 10 Things I Hate About You คงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ใครหลายคนจะแนะนำ หรือกระทั่งคนที่เคยดูมาแล้วก็คงนึกอยากดูซ้ำได้อย่างไม่น่าสงสัย โยนปรัชญาความรักและจิตวิทยาใด ๆ ที่เอ่อล้นไปด้วยเอกสารมากความและวิชาการหนักหัวออกไป ภาพยนตร์แห่งความน่ารักเรื่องนี้จะจูงมือคุณไปสู่ประตูวิวาห์ที่แสนหวานฉ่ำ

องค์ประกอบของหนัง

Can’t take my eyes off you คือเพลงประกอบที่น่ารักกินใจ การจะหาเพลงไหนที่เหมาะเจาะเข้ากับเรื่องได้มากขนาดนี้คงเลือกได้ยากยิ่งและอาจไม่มีอีกแล้ว หนึ่งในฉากตำนานที่ใครหลายคนจดจำได้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือท่าทางแสนขี้เล่นของ ฮีธ เลดเจอร์ ในบทของ แพทริก หนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์ของโรงเรียน กับบทกลอนที่แคตอ่านในห้องเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์แสนแสบ กับความเกลียดไม่ลงของเธอที่มีต่อชายหนุ่มผู้เป็นที่รัก ก็กลับกลายเป็นจุดสำคัญ หรือเรียกได้ว่าฉากไคลแม็กซ์ อันเป็นที่มาของชื่อเรื่องเลยก็ว่าได้

ทุกวันนี้หนังของชีวิตวัยรุ่นที่นุ่มเบาจนเหมือนความฝันแสนหวานที่ฮิต ๆ กันในเน็ตฟลิกซ์ ก็คงต้องเรียกหนังอมตะเรื่องนี้ว่ารุ่นแม่ เพราะความโด่งดังและตราตรึงของบทภาพยนตร์ที่ได้ทำเอาไว้ ความสดใสซาบซ่าของเด็กมัธยมไฮสคูลจะปลุกพลังอะไรบางอย่างในตัว ให้แก้มกลับมามีสีฝาด ให้หัวใจกลับมาเต้นผิดจังหวะ ให้มุมปากยกยิ้มขึ้นอย่างไร้สาเหตุอีกครั้ง ราวกับว่าเราถูกดูดเข้าไปในห้วงเวลาอันแสนหวานใสอย่างที่ตัวละครเป็นกัน

10 Things I Hate About You เติมให้เราเต็มอิ่มกับทุก ๆ องค์ประกอบในหนัง สีของฉากที่สบายตา เพลงไพเราะจับหู บทบาทของความเข้ามาตั้งใจรัก การมองเห็นและยอมรับตัวตนที่แท้จริงของคนทั้งคู่ ทำให้ถึงแม้จะดูเรียบง่ายและแสนเชย แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่ากินใจและฝังลึกลงไปในหัวมาก ๆ จนไม่แปลกใจที่มันจะถูกยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งหนังในประวัติศาสตร์ของนักดูหนังรักที่จะห้ามพลาดโดยเด็ดขาด

ความประทับใจโดยรวม

จุดเด่นของ 10 Things I Hate About You คงหนีไม่พ้นความสดใส สดใหม่ ที่จะจุดประกายอะไร ๆ บางอย่างที่อาจด้านชาตายด้าน ให้กลับมาครึกครื้นเต็มเปี่ยมไปด้วยรักอีกครั้ง ไฟแห่งชีวิตจะถูกจุดขึ้นในทันทีที่หนังเรื่องนี้จบลง กระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของหนัง เป็นต้นว่าคอสตูมต่าง ๆ ในยุค 2000s เมื่อมาดูตอนนี้แล้วก็คงรู้สึกได้ไม่ยากว่ามันช่างมีเสน่ห์และทรงพลังอย่างที่หนังยุคใหม่คงให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป และฉากต่าง ๆ ที่หนังได้สรรค์สร้างไว้คงจะตราตรึง ติดอยู่ในใจของผู้ที่ได้ลองชมไปอีกนานแสนนาน

A Walk to remember หนังรักอมตะที่อยู่ในความทรงจำ

A Walk to remember คือหนังอีกเรื่องที่ถ้าไม่ใช่สายหนังรักจริง ๆ อาจไม่เคยได้ยินชื่อ หรือเพียงแค่มองผ่านตาแล้วก็ผ่านไปเพราะโปสเตอร์หนังที่ค่อนข้างเก่าเก็บ และไม่ดึงดูดสายตาคนปัจจุบันมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งของหนังรักที่ดีที่สุดแห่งยุคที่ใครหลาย ๆ คนควรได้ดู และต้องบอกว่าผู้ชายอกสามศอกบางคนถึงกับต้องเสียน้ำตาให้กับเรื่องนี้

ก้าวแรกที่ออกเดิน

ถ้าหากดูอย่างไม่คาดหวังมาก่อน เส้นเรื่องของ A Walk to remember ดำเนินไปอย่างธรรมดาสามัญ บางคนอาจบอกว่าน้ำเน่าด้วยซ้ำ เมื่อสาวไร้ตัวตนกับหนุ่มหล่อแบดบอยได้มาร่วมหอลงโรงกัน แต่แล้วเรื่องราวเศร้า ๆ ที่ผ่ากลางความรักของคนทั้งสองคนก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ A Walk to remember กลายเป็นหนังที่ถูกจำจดมากเรื่องหนึ่งทีเดียว เพราะแม้ว่าการจะดูหนังเก่า ๆ เรื่องหนึ่งเมื่อมันผ่านมานานแล้วอาจกลายเป็นว่าบางมุกบางแง่มุมในหนังจะดูเกร่อเกินกว่าเราจะเข้าใจความประทับใจแรกพบของมันได้ แต่ด้วยบทเฉิ่ม ๆ แสนธรรมดาและหาได้ทั่วไปนี้เองก็ทำให้เราพบกับความประทับใจของคนรุ่นใหม่ที่มองไปยังผลงานเก่า ๆ เช่นกัน

ตัวละครทุกตัวถูกขับออกมาให้โดดเด่นด้วยคาแรคเตอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นรายปัจเจกไป แต่กลับกลมกล่อมและละมุนละม่อมอย่างไร้ที่ติ ความโรแมนติกที่ไหลผ่านน้ำ ร่วงลงมาพร้อมกับใบไม้ยามเย็นคือนิยามของหนังเรื่องนี้ และถึงแม้ความรักจะเปียกปอนไปด้วยน้ำตา ถูกอัดแน่นไปด้วยความโศกเศร้าผิดหวังเสียเต็มประดา อย่างไรความรักก็คือความรัก ทะนงในตนและงดงามอยู่เสมอ จนบางครั้งเผลอเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบว่าความรักได้เปลี่ยนแปลงตัวเราไปในทางที่ดีขึ้นจนทาบทับกับบทของพระเอกได้อย่างสนิท และความหมายของการแต่งงานในสายตาของผู้ชมจะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อยเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในแง่ใดก็ตาม

พัฒนาการของตัวละครคืออีกสิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้เล่าออกมาได้อย่างชัดเจนจนหลับตาดูก็ต้องเห็น และสิ่งนี้คือท่อนที่ขมวดปมทั้งหมด เพราะการที่เราดีขึ้นเพื่อใครสักคนก็ตาม ในนามของความรัก ก็เท่ากับว่าเราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าแล้ว

สู่ก้าวสุดท้ายในความทรงจำ

ที่ A Walk to remember เป็นอมตะได้ก็คงเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในตัวของมัน มีครบในทุก ๆ อย่างที่หนังรักควรจะมี เส้นเรื่องที่แข็งแกร่งน่าจดจำ ตัวละครพระเอกนางเอกที่กินใจ ตัวประกอบเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกฉากทุกตอนมีความหมาย และทั้งหมดทั้งมวลที่มัดรวมกันผ่านฟิล์มหนังแผ่นเก่า สู่สายตาของเราในยุคที่โลกหมุนไวไม่เท่าทันอินเทอร์เน็ต ความรักยังคงเป็นสิ่งแรก ๆ เสมอที่มนุษย์ไขว่คว้าวิ่งตามหา

Her แด่คนรักที่เอิกเกริกในงานเลี้ยงที่แสนเงียบเหงา

จะมียุคใดที่เราจะอินไปกับหนังเรื่อง Her ไปได้มากกว่าในช่วงทศวรรษนี้อีก คงพูดได้แค่ว่าหนังเรื่องนี้ถ้าย้อนกลับไปดูเมื่อสักสิบยี่สิบปีก่อน ตัวเรา ๆ เองอาจไม่ได้เข้าใจ หรือเข้าถึงหนังมากขนาดนั้น เพราะการตกหลุมรักปัญญาประดิษฐ์ทำให้เราดูเป็นคนไร้ปัญญาไปเลย จนบางครั้งก็เกือบลืมไปว่าไม่ว่าตอนไหนที่มนุษย์หลงรักอะไรสักอย่าง พวกเราก็มักจะโง่เขลาเบาปัญญาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

หลงรักเพราะเสียง

เมื่อความเหงาเงียบเชียบโรยตัวอยู่ตามพื้นห้องและบนไดที่ซับเวย์ หลังจากที่ต้องร้างลาจากชีวิตคู่ สู่ความอ้างว้างฉบับชายโสดสุดโศก ทีโอดอร์ หนุ่มนักเขียนโลกกว้าง ดื่มน้ำผึ้งแทนน้ำเปล่า และใช้แสงจันทร์แทนโคมไฟ ความโรแมนติกในตัวที่ล้นเอ่อทำให้งานของเขาไปได้สวย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เอาไหนเสียเลย และแล้วการเข้ามาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างซาแมนธา ก็กลับเปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

ในแง่ของเจ้านายกับลูกน้อง ซาแมนธาโดดเด่นปราดเปรียว รู้ใจเขาอย่างที่ไม่เคยมีใครเป็นได้มาก่อน ทีโอดอร์เริ่มพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นจากภวังค์แห่งความเหงาเงียบ ถีบตัวเองออกจากมุ้งของความโดดเดี่ยว แต่แล้วจุดขายสำคัญของเรื่อง คือความรักที่มาจากเสียง ก็กลับทำให้เขากลายเป็นคนละคนจากตอนต้น จมจ่อมในความรัก และน่าพิศวงที่ความรักนั้น เกิดขึ้นจากเสียง ไร้รูปกาย หรือสัมผัสใด ๆ แต่เขาก็ยังยินดีจะโอบเอาความรักนั้นเข้าสู่หัวใจอย่างอิ่มเอม

ส่วนสำคัญที่ทำให้เราคนดูเองมีหลงเกือบจะรักไปกับซาแมนธา โปรแกรมคอมพิวเตอร์สาวสมองใส มีมุกตลก ฉลาด อีคิวสูง และรวบรวมทุกสิ่งอย่างที่เราจะใฝ่ฝันถึงคนรักสักคนเอาไว้ในตัวเธอได้อย่างครบถ้วน เมื่อมันถูกถ่ายทอดมาด้วยน้ำเสียงของ สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน นี่เองที่เป็นจุดจดจำของเรื่อง ที่ทำยังไงก็ลืมไม่ลง กับความเซ็กซี่ขี้เล่นที่พยายามจะฉุดให้เราตกลงในหลุมรักอย่างไม่ทันได้รู้สึกตัว

อกหักเพราะเสียง

แต่แล้วหนังก็กลับหักหลังเราจนเดาะได้อย่างเจ็บแสบ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แนวโรแมนติกเสียอย่างเดียว มันยังคงมีความดราม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วหยดน้ำตาที่ซ่อนตัวอยู่ตามอารมณ์รักโลภโกรธหลงก็โผล่เข้ามาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวหรือเตรียมใจ ความเงียบเหงาเว้าแหว่งของตัวละครหลักอย่างทีโอดอร์ทำให้ใครหลายคนเห็นภาพเป็นตัวเองสวมแทนตัวเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกรักว่ามันมีขีดจำกัดเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถทลายกำแพง โอบความรักไว้เพียงแค่เสียง ไม่ต้องสนใจคนธรรมดาต่อไปจริง ๆ หรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้ว การพบปะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันจะย่อมเป็นสิ่งที่สัตว์สังคมจะขาดไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ ความรักที่ทีโอดอร์มีต่อซาแมนธา อย่างไรจะเรียกมันว่าความรักก็คงไม่ผิดแน่

The Great Gatsby ขอสดุดีแด่แกสบี้ผู้ยิ่งใหญ่

The Great Gatsby เป็นที่รู้จักกันในนามของหนังสือชื่อดังก้องโลก และหนังชิ้นโบว์แดงของลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ ซึ่งเชื่อว่าแฟนคลับของเขาหลาย ๆ คนคงไม่พลาดเรื่องนี้ไปอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะได้ดาราแม่เหล็กมาร่วมแสดงกันหลายคนแล้ว หนังยังทุ่มทุนสร้างความยิ่งใหญ่ตระการตาของแกสบี้ ให้สมกับที่หัวใจของเขาถวิลหา แต่ก็ยังน้อยเกินไป และไม่เคยเพียงพอต่อหญิงคนที่เขารักเสียที    

เงินซื้อความรักก็ว่าได้

หนังเรื่อง The Great Gatsby คือตัวแทนของคำพูดที่ไว้เสียดแทงสังคมร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ ไม่ว่ายุคไหนปีใด เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กระทั่งสิ่งของมีค่าทั้งหลายแหล่ก็ไม่เคยถูกลดตัวด้อยค่าจนไม่สามารถตีตราเป็นสิ่งใดได้ และหลาย ๆ ครั้งถ้าไม่โกหกตัวเองมากจนเกินไป เงินสามารถซื้อความรักได้ แม้จะในแบบทางอ้อม หรือกระทั่งคำโกหกก็ตาม แกสบี้คือชายหนุ่มคนหนึ่งที่เชื่อแบบนั้น ไขว่คว้าหาวิธีทุกทางเพื่อให้เดซี่ หญิงยอดรักในดวงใจของเขาได้โฉบมาที่คฤหาสน์แห่งความเงียบเหงา ประตูบานกว้างที่เว้าแหว่ง และเจ้าของบ้านหลังใหญ่ที่เอื้อมมือไขว่คว้าสิ่งที่ไม่เคยเป็นของเขาสักครั้ง แสงสีเขียวที่อยู่ตรงกันข้ามอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ

นิค คาร์ราเวย์ ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน เขานับถือเคารพแกสบี้ เป็นเพื่อนคู่ใจ สหายคู่กาย มองลึกเข้าไปถึงเนื้อแท้ภายใน ว่าแกสบี้มาจากไหน ต้องการสิ่งใด และเป็นใคร ชั่วเวลาที่ชีวิตของสหายรักโลดโผนโดดเด่น ขึ้นสู่จุดสูงสุดของความต้องการที่มนุษย์จะเอื้อมคว้าได้ เขาไร้ซึ่งญาติมิตร กระทั่งใครสักคนที่หวังดีแก่กันจากใจจริง นิคเข้ามาเป็นคนที่ทำหน้าที่เติมเต็ม แกสบี้ยังมีเขาเสมอไม่ว่าเวลาใด

จวบจนใกล้จบเรื่อง แกสบี้ไม่เคยหมดศรัทธาในความรัก เขาโหยหาการยอมรับ ขวนขวายเงินทอง สร้างประวัติสวยหรู เพราะเรียกร้องความรัก จากคนรัก จนวินาทีสุดท้ายที่หนังเล่าให้เราฟังถึงชีวิตของชายผู้มีความรัก เขายังเชื่อเดซี่หมดหัวใจ เอาหัวใจและชีวิตของเขาเพื่อแลกกับการได้โอบกอดเธอไว้ แม้เพียงในความคิดก็ตามที

มิตรสนิท สหายรัก

Gatsby ที่ถูกเติมคำว่า The Great เติมหน้าเข้าไปด้วยฝีมือของนิค คาร์ราเวย์ คงเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักในสหายคนพิเศษของเขาได้เป็นอย่างดี นิคไม่ได้บอกว่าแกสบี้ถูกทุกอย่าง แต่ตัวเขาที่ถูกแสงสีของมหานครย้อมเบ้าตาจนกลายเป็นใครอีกคนที่เขาไม่เคยนึกฝันว่าตัวเองจะได้เป็น เขาชื่นชมในหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของแกสบี้ ความมุมานะทุกอย่าง ความซื่อสัตย์ และที่สำคัญ หัวใจที่เปี่ยมรักของแกสบี้ แม้ในที่สุดแล้ว แสงสีในงานเลี้ยงจะถูกดับลง ไร้ซึ่งงานรื่นเริงใด ๆ คงไว้เพียงแต่ความเงียบเหงา หากเดซี่ยังคงเริงระบำ หัวเราะร่าเสียงหวานอยู่ในโสตประสาทของเขาเสมอ

Love, Simon นำเทรนด์หนังวายโลกสวย

Love, Simon ของผู้กำกับเกร็ก เบอร์ลานติ เรื่องนี้มีความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีพล็อตสบาย ๆ และถูกปล่อยออกมาในตอนที่ผู้คนต้องการเสพอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่จำเจและไม่ซับซ้อน แต่แทนที่จะเป็นหนังพระเอกนางทั่วไป ก็เปลี่ยนใหม่ให้เป็นพระเอกนายเอกซะนี่ ก็เลยขึ้นแท่นหนัง Feel good ในดวงใจสาววายไปแล้ว

                หนังเป็นเรื่องราวของ Simon Spier หนุ่มมัธยมปลายได้มีโอกาสติดต่อทางอีเมลล์กับหนุ่มที่ใช้นามแฝงว่า Blue และดูเหมือน Simon จะรู้สึกชอบ Blue แล้วด้วย แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ Simon ไม่รู้ว่า Blue ตัวจริงนั้นเป็นใคร การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่จึงเป็นการสืบและตามหาว่า Blue คือใครกันแน่ ซึ่งหนังจะฉายเห็นบรรดาหนุ่ม ๆ ที่ Simon สงสัย มีทั้งเพื่อนตัวเอง เพื่อนของเพื่อน เพื่อนต่างชั้นในโรงเรียน เราจะได้เห็นความน่ารักน่าจิ้นของ Simon กับหนุ่มผู้ต้องสงสัย คอยลุ้นตามว่าคนไหนนะที่จะมาคู่น้องม่อนของเรา แต่ที่เรารู้สึกได้อยู่ตลอดก็คือ ไม่ว่าจะเฉลยออกมาเป็นใคร Simon ก็พร้อมจะยอมรับคนนั้นด้วยหัวใจ (ก็ขนาดแค่คุยทางอีเมล์ยังชอบเขา จะลงทุนตามหาเขาขนาดนี้นี่เนอะ) สิ่งที่น่าสนใจคือในการคุยกันผ่านอีเมลล์ Simon จะลงท้ายด้วย Love, Jacques ซึ่งหมายความว่าเขาเองก็ยังใช้นามแฝง ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตนว่าตัวเองชอบผู้ชาย อยากให้ไปติดตามกันเองว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้นามแฝง มาใช้คำลงท้ายจดหมายเป็น Love, Simon         

เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่มีความเป็นหนังรักวัยรุ่นแบบโรแมนติกคอมเมดี้ พล็อตไม่ลึก ไม่ซับซ้อน มีความแตกต่างจากรอมคอมทั่วไปก็แค่เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ชอบผู้ชายอีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง แม้ช่วงแรก ๆ จะเห็นว่าพระเอกของเรามีความหนักใจเกี่ยวกับความลับเรื่องตัวเองเป็นเกย์อยู่บ้าง แต่ความกดดันนั้นก็หาทำให้คนดูเครียดตาม เรากลับดูหนังด้วยความผ่อนคลาย สบายใจ และความกดดันของ Simon ก็ผ่อนคลายขึ้นเยอะเพราะความน่ารักของพ่อแม่ ความตลกสดใสปนฮาของบรรดาเพื่อน ๆ เป็นการดูหนังที่คอยแต่จะเอาใจช่วย Simon ให้กล้าเปิดเผยตนเอง (Come Out) และเอาใจช่วยเจอบลู ซึ่งในตอนเฉลยว่าบลูเป็นใคร หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง หรืออาจจะมีผิดหวังกันนิดหน่อยเพราะไม่ตรงกับคนที่เราเชียร์อยู่ก็ได้นะ สุดท้ายอยากจะบอกว่าเพลงประกอบทำได้เข้ากันกับหนังดีจัง โดยเฉพาะเพลง Strawberries & Cigarettes นี่ฮิตติดชาร์ตกันเลยทีเดียว

ดูหนังจบ สรุปกับตัวเอง 3 ข้อ คือ 1) นี่มันหนังโรแมนติกคอมเมดี้เวอร์ชั่นชายชอบชายที่มีเนื้อหาเป็นมิตรกับมนุษย์โลกชะมัดเลย 2) นี่มันหนังชายชอบชายที่ส่งเสริมให้ LGBT ออกมายอมรับตัวเองกับสังคมได้ไม่มากก็น้อยใช่หรือไม่ เพราะเนื้อหาตอนจบมันส่งเสริมการ Come Out มาก ๆ  3) เป็นหนังวายที่มีความโลกสวยมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมา

The Reader ความรักของเด็กหนุ่มที่กลายเป็นความรู้สึกฝังลึก

เมื่อความรักรู้สึกรัก เกิดขึ้นตอนที่กำลังอยากลองรัก…และเมื่อหลงรักไปแล้ว มันก็ยากที่จะถอนตัว เป็นความรักที่หยั่งรากลึกลงไปก้นบึ้งความรู้สึกเลยก็ว่าได้ สำหรับ ไมเคิล เบิร์ก (รับบทโดย David Kross) เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ที่บังเอิญเจอสาวใหญ่วัยกว่า 30 ปี นามว่ากับฮันน่า ชมิทซ์ (ระบทโดย Kate Winslet) และการกลับมาเจออีกครั้ง…ความลึกซึ้งเกินเลยระหว่างสาวใหญ่และเด็กหนุ่มก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

The Reader (2008) กำกับโดย Stephen Daldry หนึ่งในทีมผู้กำกับซีรีส์ที่กำลังโด่งดังอย่าง The Crown ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้กำกับหนังดีน่าจดจำหลายเรื่อง เช่น Billy Elliot (2000) และ The Hours (2002) ตัวหนังมีฉากหลังเป็นประเทศเยอรมนี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มชื่อไมเคิล เบิร์ก กำลังนั่งรถไฟกลับบ้านเขาเริ่มมีอาการป่วยด้วยไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) และเมื่อลงจากรถไฟก็ดันเดินตากฝน ปากสั่น แถมยังอ้วกแตกจนทนไม่ไหว จึงหลบเข้าไปนั่งพักตรงทางเข้าบ้านฮันน่า ชมิทซ์ เมื่อเด็กหนุ่มที่ร่างกายและจิตใจกำลังอ่อนแอได้รับการช่วยเหลืออย่างอ่อนโยนจากฮันน่าสาวสวยใจดี ที่ทั้งเช็ดหน้า และล้างอ้วกให้ แถมยังกอดปลอบใจอย่างอ่อนโยน เขาจึงจดจำฝังใจ เมื่อหายป่วยจึงตั้งใจจะแวะมาขอบคุณ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าพอกลับมาเจอกันความสัมพันธ์ลึกซึ้งแบบลับ ๆ ของพวกเขาเกิดขึ้น ทั้งสองหลงใหลกันและกัน ไมเคิลแอบมาหาฮันน่าหลังเลิกเรียนทุกวัน จนมาวันหนึ่งไมเคิลอ่านหนังสือให้ฮันน่าฟัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฮันน่าตั้งกฎว่าก่อนมีอะไรกัน ไมเคิลต้องอ่านหนังสือให้ฟังก่อน (และคงเป็นจุดบอกที่มาของชื่อหนังว่า The reader อีกด้วย) อยู่มาวันหนึ่งฮันน่าหายตัวไป ทำให้ไมเคิลสับสนและหัวใจสลายกลายเป็นคนเงียบขรึม ความไม่เข้าใจและความเศร้าสร้อยมันเกาะหนึบอยู่ในหัวใจ จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังหวนนึกถึง ผ่านมา 8 ปีไมเคิลกลายเป็นนักเรียนกฎหมายและเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีอาชญากรรมของนาซี ที่นี่เองเขาได้พบฮันน่าอีกครั้ง…ฮันน่าในฐานะจำเลย และไมเคิลเพิ่งรู้ตัวว่าตนเป็นเพียงคนเดียวที่กุมความลับที่อาจทำให้ฮันน่าได้รับการลดโทษครั้งนี้ได้

แต่บอกไว้ก่อนว่าความลับที่ว่านี้ คือปมยิ่งใหญ่ของหนัง และเป็นไคลแมกซ์ระลอกแรกของหนังด้วยเช่นกัน ที่บอกว่าเป็นระลอกแรก ก็เพราะว่าไคลแมกซ์ระลอกที่สองตามมา ซึ่งครั้งที่สองนั้นมันสะเทือนอารมณ์เอามาก ๆ เลยทีเดียว หนังแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก คือช่วงที่พระนางได้ใช้เวลาด้วยกันและสัมพันธ์กันแบบลับ ๆ และช่วงที่สองคือช่วงกลับมาเจอกันอีกครั้งและมีเรื่องราวต่อเนื่องมาอีกหลายปี โดยไมเคิลกลายเป็นทนายความ (Ralph Fiennes รับบทไมเคิลตอนเป็นผู้ใหญ่) ได้กลับมาเป็น the reader ให้ฮันน่าอีกครั้ง เรื่องราวพักหลังเน้นถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร มีฉากที่คนดูก็ได้ประหลาดใจไปพร้อม ๆ กับไมเคิล ได้ยิ้มทั้งน้ำตาด้วยความรู้สึกท่วมท้นที่รับรู้ร่วมกับตัวละคร ดนตรีประกอบดีจนประหลาดใจ ช่วงท้าย ๆ อินมาก น้ำตาซึมจนร่วงเผาะ มาดูอีกทีถึงรู้ว่าดนตรีประกอบมันมีผลจริง ๆ

 หนังเรื่องนี้เป็นหนังโรแมนติกดราม่าที่ทรงพลังมาก จะบอกว่าหนังมีตัวละครหลักแค่สองคนคือ ไมเคิล กับฮันน่าก็คงไม่ผิด และหากจะกล่าวว่าหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวของฮันน่า ชมิทซ์แล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์และความรู้สึกของไมเคิลด้วยเช่นกัน ถ้าถามว่าฮันน่ารักไมเคิลไหม จะตอบว่าฉากก่อนเลิฟซีนและเลิฟซีนก่อนจากกันเมื่อครั้งวัยรุ่นนั้นมันบอกไว้อยู่แล้ว และถ้าถามว่าไมเคิลยังรักฮันน่าอยู่ไหม ก็จะตอบว่าลองดูฉากใกล้จบที่ไมเคิลเตรียมห้องและติดรูปภาพบนผนังสิ..สะเทือนใจสุด ๆ

The Space between Us รักเราแค่ดาวอังคาร

วันนี้เราจะพาข้ามห้วงอวกาศไปกับภาพยนตร์แนวโรแมนติกไซไฟ หนังรักใส ๆ ที่พล็อตหลักของเรื่องเป็นการพูดถึงชีวิตของเด็กหนุ่ม ที่ต้องเติบโตในดาวอังคาร เราจะพาไปดูกันแบบเจาะลึกรายละเอียด และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อออกมาถึงผู้ชมกัน

เมื่อมีสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนกับพบเจอกับคนที่ถูกใจก็กลายเป็นเรื่องง่าย แค่มีเอ็นเตอร์เน็ต ก็มีความรักได้แล้ว เช่นเดียวกันกับ การ์ดเนอร์ เอลเลียต (รับบทโดย อาซา บัตเตอร์ฟิลด์) เด็กชายวัย 16 ปี ที่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคาร การ์ดเนอร์เป็นตัวละครที่สื่อถึงหลายประเด็น ทั้งการอยากรู้อยากเห็นตามวัย การอยากมีอิสรภาพได้ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ การใช้ชีวิตกับครอบครัว และการมีความรัก เรียกได้ว่าบทพยายามจะจับทุกประเด็นมาใสในตัวเขา แล้วทำให้เชื่อมโยงกัน แต่ด้วยเลาที่มีจำกัดจึงทำให้ไม่สามารถลงลึกในแต่ละปมได้ หลายคนที่ดูแล้ว จึงรู้สึกเหมือนหนังทำได้ไม่สุด แต่ถ้าลองมองในอีกมุมมองหนึ่ง เด็กที่ใช้ชีวิตกับการเรียนรู้จากเทคโนโลยีนอกโลก ความรู้และทักษะชีวิตของเขามีเพียงเท่าที่คนบนโลกโปรแกรมไว้เท่านั้น ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้กำกับพยายามทำให้เหมือนจริง เพราะหนังใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการเล่าเรื่อง ทำให้คนดูไม่ต้องตีความซับซ้อน เพราะการใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

ปมของหนังที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเด็กชายจากดาวดวงอังคาร ได้พูดคุยและเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตกับเด็กสาวบนที่อยู่โลกมนุษย์ ความอยากรู้อยากเห็นของเขา จึงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เป็นเรื่องราวความรักที่ดูเป็นไปได้อยาก เพราะการ์ดเนอร์ไม่สามารถใช้ชีวิตบนโลกเราได้อย่างเด็กปกติ เรียกง่าย ๆ คือ ร่างกายของเขาไม่สามารถทนต่อแรงดันอากาศและสภาพแวดล้อมในโลกได้ แต่ปัญหานั้นก็ไม่ได้ทำให้ความอยากที่จะมาใช้ชีวิตบนโลกลดลง นอกจากปมเรื่องราวรักแล้ว ก็ยังมีปมเรื่องปัญหาครอบครัวเข้ามาด้วย แต่ในส่วนนั้นดูเหมือนว่าจะทำออกมาได้ไม่ดีเท่าไหร่ ภาพโดยรวมของหนังจึงเน้นไปที่ความรักของเด็กหนุ่มสาว ที่โรแมนติกและหน่วงความรู้สึกไปพร้อมกัน ถือว่าทำได้ดีในส่วนของหนังรัก แต่ประเด็นอื่นๆนั้นก็ขอพูดถึงเพียงเท่านี้ แนะนำว่าดูแบบชิล ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมากจะดีกว่า

ถือว่าเป็นหนังรักโรแมนติกอีกเรื่อง ที่จะทำให้คุณได้ดื่มด่ำกับความชุ่มฉ่ำหัวใจ ในสไตล์รักใส ๆ ที่คงจะหาเจอในชีวิตจริงได้ยาก เป็นหนังที่เก็บไว้ดูเวลารู้สึกหม่นหมอง หรือท้อใจได้ดีระดับหนึ่งเลยล่ะ ดูแล้วจะสดใสมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างแน่นอน

 

Begin Again เพราะรักคือเพลงรัก

วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับภาพยนตร์แนวโรแมนติกปนดราม่าเล็ก ๆ จากผู้กำกับ จอห์น คาร์นีย์ ที่นำแสดงโดยนักแสดงคุณภาพอย่าง เคียรา ไนต์ลีย์มาร์ก ราฟฟาโล่เฮลี สไตน์เฟลด์ และนักร้องหนุ่มชื่อดังอย่าง อาดัม เลอวีน ที่เนื้อเรื่องพยายามพูดถึงการเริ่มต้นใหม่ หลังจากเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต พร้อมกับเป็นเจ้าของบทงานเพลง ลอสสตาร์ ที่เนื้อเพลงเล่าถึงการตามล่าความฝันและเส้นทางชีวิตแสนไพเราะ ที่ต้องลองฟังสักครั้งในชีวิต

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อหนุ่มใหญ่อย่าง แดน มัลลิแกน (มาร์ก รัฟฟาโล) ผู้บริหารค่ายเพลงในนครนิวยอร์ก ที่กำลังเจอกับปัญหาใหญ่ เมื่อไอเดียของเขานั้นล้าสมัย และไม่เป็นที่นิยม จึงทำให้เขาถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง ฉากนี้พยายามสื่อถึงคนที่ท้อแท้หมดหวัง และหมดกำลังใจในตัวเองถึงขีดสุด ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีในการนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับคนที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ โดยเนื้อเรื่องดำเนินในแบบที่ตัวละครสิ้นหวัง แต่ไม่ได้สิ้นคิด เขายังคงหวังว่าจะเจอไอเดียใหม่ๆเพื่อที่จะได้กลับไปยึดบริษัทของตัวเองคืน จนมาเจอกับ เกรต้า (เคียรา ไนต์ลีย์) นักร้องและนักแต่งเพลงสาวสวย ที่โดดเด่นและโดดเดี่ยว แดนจึงพยายามชักชวนให้เธอมาทำผลงานเพลงกับเขา เพราะเขาเชื่อว่าเพลงของเกรต้าจะต้องดังและเป็นที่นิยมอย่างแน่นอน

ในตอนแรกที่เจอกับผู้บริหารที่ไร้บริษัทอย่างแดนนั้น เกรต้าก็ไม่มั่นใจที่จะไปเสี่ยงกับเขา เพราะเธอมีแฟนหนุ่มเป็นศิลปินชื่อดังคอยดูแลอยู่แล้ว แต่เมื่อเธอได้รู้ความจริงว่า  เดฟ โกห์ล (อาดัม เลอวีน) แฟนของเธอนั้นหักหลังเธอด้วยการแอบไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงในช่วงที่เขาไปโปรโมทอัลบั้ม ทำให้เกรต้าตัดสินใจหันหลังให้กับคอนโดหรูและมาอาศัยอยู่กับเพื่อนนักดนตรีของเธอแทน เนื้อเรื่องเล่าถึงความเจ็บปวดจากการถูกหักหลังได้อย่างครบรส และสื่อถึงเรื่องราวที่เจ็บปวดของเกรต้ากับแดนได้อย่างชัดเจน จะสังเกตได้ว่าทั้งตนนั้นมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันนั่นคือ การโดนคนที่ไว้ใจหักหลัง ซึ่งตัวละครก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว ส่วนอีกหนึ่งฉากที่เป็นฉากประทับใจและน่าจดจำมาก ๆ นั่นก็คือ ตอนที่เดฟแฟนเก่าของเกรต้า นำเพลงที่เธอแต่งให้เขาตอนที่อยู่ด้วยกันสองคนขึ้นแสดงบนเวลา เป็นฉากที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด และความรู้สึกคาดหวังที่จะได้รับการอภัยของฝ่ายชาย บวกกับความเสียใจเมื่อต้องคิดถึงเรื่องราวเก่า ๆ และการตัดสินใจที่จะไม่กลับไปอยู่ในจุดเดิมอีกครั้งของฝ่ายหญิง เรียกได้ว่าเป็นฉากที่อึดอัดและอยากร้องไห้ตามไปด้วยจริง ๆ

เป็นภาพยนตร์คุณภาพอีกเรื่องที่นอกจากเนื้อเรื่องจะให้ข้อคิดในการต่อสู้กับปัญหาในชีวิตอย่างมากมายแล้ว ในส่วนบทเพลงแนวบัลลาดที่ใช้ประกอบในเรื่องนั้นก็ยังเพราะติดหูสุดๆ เลยด้วย ลองเปิดใจดูกันสักครั้งนะ